วันพุธที่ 25 กรกฎาคม พ.ศ. 2555


ชื่อนั้นสำคัญไฉน ??
...........ในรอบหลายปีที่ผ่านมา  คนไทยเราชอบให้คำจำกัดความวัตถุสิ่งของ ความเชื่อ  ทั้งที่เป็นรูปธรรมและนามธรรม  เพื่อตีกรอบความคิดหรือแบ่งแยกสิ่งต่างๆมากเกินความจำเป็น  จนลืมสารัตถะที่มีความหมายและคุณค่ามากกว่าคำที่ถูกกำหนดตามตัวอักษร  ซึ่งกลุ่มคนในสังคมสร้างขึ้นมาเพื่อหาพวกพ้องในการกีดกันคนกลุ่มอื่นที่เกิดขึ้นมาใหม่มีความคิดสร้างสรรค์สังคมใหม่ๆ  โดยอาจคิดต่างจากกลุ่มก้อนเดิมซึ่งถ้าหากอัตตาเหล่านี้ไม่คลายตัว  หรือเปิดรับความคิดเพื่อสร้างพันธมิตรแห่งความเป็นมนุษย์ขึ้นมาแล้ว  สุดท้ายอาจติดกับความคิดและอุดมการณ์ที่จมปลักอยู่กับอดีต วาทะกรรมที่หมู่ชนคนไทยติดกับและยังไม่สามารถหาทางออกให้กับตัวเองได้  เช่น ไพร่กับอมาตย์ กลุ่มเสื้อสีเหลือง  สีแดง  เสื้อฟ้า  หรือแม้กระทั่งในวงวิชาชีพทางปศุสัตว์ก็ไม่วายจะต้องถูกตีความว่า อาชีพนั้นอาชีพนี้มีความหมายว่าอย่างไร  การสร้างนวัตกรรมทางอาชีพขึ้นมาสักอย่างผู้ที่ริเริ่มจะต้องเป็นผู้แบกรับ  ต้องมีความเชื่อมั่นและศรัทธา  ถึงแม้ว่าจะต้องเจ็บปวด และอาจถูกกระแสสังคมจากเพื่อนร่วมวิชาชีโจมตี   และวิพากษ์วิจารณ์  อย่างไรก็แล้วแต่  จำเป็นจะต้องมีความอดทน  น้อมรับและฟังเหตุฟังผลในการให้ข้อคิดเห็น  และข้อเสนอแนะอย่างมีสติ  พร้อมที่จะปรับปรุง  ถึงแม้บางข้อความที่ได้รับจะเป็นการเสียดสีก็ตาม 
                ตั้งแต่เปิดการเรียนการสอนสาขาวิชาสัตวรักษ์ปีนี้เป็นปีที่ 18 ผ่านอุปสรรคต่างๆมามากมาย  แต่ยังมีความมุ่งมั่น โดยมีเจตนาอันบริสุทธิ์ในการสร้างอาชีพนี้เพื่อรับใช้มวลชน  เป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาการปศุสัตว์ไทย  แต่ก็นั่นแหละอะไรก็ตามซึ่งเกิดขึ้นใหม่ในสังคมที่ผู้คนยังต้องการความหมายมากกว่าเนื้อหาสาระ  ยังต้องการใบปริญญามากกว่าสมรรถนะในการทำงาน  เราต้องไม่เบื่อในการให้คำจำกัดความของสาขานี้ในทุกเวลา  ทุกสถานที่  และทุกสถานการณ์  สื่อใดที่สามารถเผยแพร่ได้เราจะชี้แจง  จนกว่าสังคมหรือผู้ใช้บริการจะหายสงสัย  และยอมรับในการทำงานของเรา  บทความหน้าสื่อนี้ก็เช่นกัน  จะขออธิบายตำนานและความหมายคำว่า “สัตวรักษ์” เพื่อว่าคนรุ่นหลังจะได้ไม่จำไปบอกต่อผิด ๆ อย่างน้อยมีข้อมูลอ้างอิงจากผู้ให้กำเนิดสาขานี้ได้อย่างถูกต้อง
                ในปี พ.ศ.2536 มีนักวิชาการกลุ่มหนึ่งของกรมอาชีวศึกษา ( เป็นชื่อเรียกในสมัยนั้น  ปัจจุบันเปลี่ยนเป็นสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา )  มองเห็นถึงภาระกิจในการพัฒนาอาชีพด้านการเกษตรว่ายังขาดแคลนบุคลากรประเภทสหวิทยาการทางอาชีพการปศุสัตว์ในระดับเทคโนโลยี  ผู้อำนวยการกองเกษตรกรรมในสมัยนั้น  นายบุระ  กาญจนเสริม  จึงเรียนเชิญท่าน ผู้อำนวยการวิทยาลัยเกษตรกรรมราชบุรี     ( ปัจจุบันเปลี่ยนชื่อเป็น วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีราชบุรี ) นายประวัติ  ญาณะชัย มาขอคำปรึกษาว่าสามารถพัฒนาอาชีพดังว่าได้หรือไม่  ในที่สุดภารกิจอันหนักอึ้งนี้ก็ตกมาสู่ผมและคณะ  ซึ่งไม่ทราบมาก่อนว่าจะต้องเผชิญอุปสรรคอย่างไร  หลักสูตรของสาขานี้แรกเริ่มเดิมทีพัฒนามาจากหลักสูตรของสัตวแพทย์กรมปศุสัตว์ แล้วค่อยๆปรับปรุงให้เหมาะกับยุคสมัยมาไม่ต่ำกว่า 3 ครั้ง ( ปี พ.ศ.2538, พ.ศ.2540,และพ.ศ.2546 ) สาเหตุที่ต้องปรับปรุงเพราะทุกครั้งที่ลูกศิษย์ออกไปทำงานจะได้รับข้อแนะนำอันเป็นประโยชน์  สถานประกอบการก็มีส่วนในการช่วยวิพากษ์วิจารณ์แก้ไข  และบอกถึงความต้องการในสภาพจริงว่าต้องการบุคลากรทางด้านนี้อย่างไร  มีประโยชน์มากครับ!! ในการน้อมรับคำติชมทุกภาคส่วน  ทำให้เราสร้างอาชีพสร้างงานที่นับวันจะต้องใช้ความรู้  ใช้เทคโนโลยี  นำศิลปวิชาชีพของศาสตร์ในสาขาต่างๆที่มีจุดแข็งมาบูรณาการจนเกิดเป็นหลักสูตรผสมผสาน  ประกอบกับเสน่ห์ของเด็กอาชีวเกษตรซึ่งมีพื้นฐานมาจากลูกเกษตรกร  เป็นคนอารมณ์ดี  มีมนุษยสัมพันธ์  หนักเอาเบาสู้ ดังนั้นสาขาวิชาสัตวรักษ์จึงเป็นศาสตร์ที่ผู้เรียน  จะต้องมีความสามารถในการผลิตสัตว์ได้  บริบาลสัตว์เป็น  และบริการชุมชนด้วยการส่งเสริมสุขภาพสัตว์ได้  คือเป็นนักสัตวบาล ผู้ช่วยสัตวแพทย์  และเป็นนักส่งเสริม  อยู่ในคนคนเดียวกัน ปัจจุบันสาขานี้จึงมีอัตลักษณ์ซึ่งเป็นที่รู้กันทั่วไปว่า       “มีมาตรฐาน  บูรณการศาสตร์วิชา”  สาขานี้เน้นผลิตผู้เรียนออกปฏิบัติการภาคสนามเป็นส่วนใหญ่  ดังนั้นกระบวนการเรียนจึงเน้นการปฏิบัติตลอดระยะเวลา 2 ปี ตามหลักสูตรในระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง( ปวส.)
                คำถามที่มักได้ยินบ่อยๆจากผู้คนทั่วไปคือว่าสัตวรักษ์แตกต่างจากสัตวแพทย์  และสัตวบาลอย่างไร สำหรับคำว่าสัตวแพทย์และสัตวบาลนั้น สองคำนี้อยู่ในสังคมไทยมาไม่ต่ำ 60 ปี  ผู้คนในบ้านในเมืองรู้จักเป็นอย่างดี  ส่วนสัตวรักษ์เพิ่งได้ยินชื่อมาช่วง 2 ทศวรรษนี้เอง  ถ้าเปรียบเป็นคนสาขานี้ก็เพิ่งจะย่างเข้าสู่วัยรุ่น  ส่วนผู้อาวุโสทั้งสองสาขาก็เข้าสู่วัยที่เป็นหลักให้กับอาชีพในวงการปศุสัตว์ไทยอย่างยั่งยืน สัตวรักษ์นั้นแตกต่างจากสัตวแพทย์อย่างแน่นอน  ถ้าจะเปรียบให้เห็นภาพชัดเจนยิ่งขึ้น  ให้ลองเทียบกับคนในวงการสาธารณสุข  ซึ่งมีเจ้าหน้าที่หลากหลายบทบาท เช่น หมอ พยาบาล ทันตแพทย์ เภสัชกร เทคนิคการแพทย์ นักกายภาพบำบัด เป็นต้น สัตวรักษ์เปรียบคล้ายอาชีพพยาบาลของกระทรวงสาธารณสุข  มีการเรียนพื้นฐานวิชาชีพคล้ายพยาบาล  เป็นการเรียนเบื้องต้นทางการแพทย์เพื่อให้รู้ลักษณะงานของหมอ  สัตวรักษ์จึงเป็นอีกอาชีพหนึ่งในวงการปศุสัตว์ที่เข้าไปช่วยเสริมงานทางสัตวแพทย์ให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น  โดยทำงานภายใต้ความรับผิดชอบของนายสัตวแพทย์ซึ่งมีใบประกอบวิชาชีพ  เป็นผู้ให้กรอบการทำงานในการปฏิบัติการภาคสนาม  ซึ่งเราจะพบได้ในหน่วยงานราชการของกรมปศุสัตว์ที่มีนายสัตวแพทย์จำนวนไม่มาก  แต่มีทีมงานที่จบจากสัตวรักษ์คอยช่วยเติมเต็มงานในภาคสนาม  ให้ทันท่วงทีกับความต้องการของพี่น้องประชาชน ( แหมคำนี้พูดอย่างกับนักการเมือง ) ข้อแตกต่างที่เห็นได้อย่างชัดเจนคือความรู้ของนายสัตวแพทย์เรียนมามาก  และเรียนอย่างลึกซึ้ง   ปฏิบัติการในภาคสนามก็ไม่น้อย  และเรียนถึง 6 ปีกว่าจะจบหลักสูตรเป็นสัตวแพทย์บัณฑิต  จึงไม่ควรระแวงว่าผู้เรียนจบจากสาขาวิชาสัตวรักษ์ซึ่งเรียนเพียง 2 ปีจะมาแย่งอาชีพ  จะแย่งได้อย่างไรเล่า!! เพราะพวกเขาเหล่านี้ไม่ได้มีใบประกอบวิชาชีพอย่างอาชีพสัตวแพทย์  ดังนั้นจึงควรวางบทบาทการทำงานร่วมกันอย่างไรให้ทำงานกันได้อย่างหมอรักษาคน และพยาบาล  จะทำให้การศึกษาและการปศุสัตว์ไทยก้าวไกลสู่อาเซียนอย่างมีประสิทธิภาพ 
                เอ.....แล้วสัตวบาล หรือบางทีเรียกสัตวศาสตร์ มีความแตกต่างกันอย่างไรกับสัตวรักษ์  สัตวบาลนั้นเน้นการผลิตปศุสัตว์ การจัดการให้สัตว์มีผลผลิตที่ดี  ดูแลด้านสายพันธุ์  การผสมเทียม  ผลิตอาหาร สัตว์ที่มีคุณภาพ ตลอดจนการสุขาภิบาลสัตว์   เป็นต้น  สำหรับสัตวรักษ์มีบทบาทและหน้าที่ดังกล่าวไว้ข้างต้นคือ   ต้องมีความสามารถด้านผลิตปศุสัตว์ การผสมเทียม การจัดการ  การเลี้ยงดู  การคำนวณสูตรอาหาร การดูแลบริบาลสัตว์เบื้องต้น ( การใช้เวชภัณฑ์เบื้องต้น  การรักษาสัตว์เบื้องต้น  การทำศัลยกรรมเบื้องต้นในปศุสัตว์ )  และส่งเสริมการปศุสัตว์โดยการให้บริการวิชาชีพได้ กล่าวโดยสรุปสัตวรักษ์จะต้องผลิตสัตว์ได้  บริบาลสัตว์เป็น  และให้การบริการด้านการปศุสัตว์
                จะว่าไปแล้วที่กล่าวมาทั้งหมดเป็นความพยายามจะให้นิยาม  หรือความหมายว่าชื่อนี้มีความเป็นมาอย่างไร  แต่ก็นั่นแหละชื่อนั้นไม่สำคัญเท่ากับการทำงานว่าสามารถตอบสนอง  สามารถทำประโยชน์ให้กับผู้จ้างงานหรือสังคมได้มากแค่ไหน   เติ้งเสี่ยวผิง  อดีตนายกรัฐมนตรีของจีนผู้ปฏิรูปประเทศจีนอย่างก้าวกระโดด  ยกวาทะกรรมไว้อย่างน่าสนใจว่า  “แมวไม่ว่าจะเป็นสีอะไร  หรือสายพันธุ์ใดหากสามารถจับหนูได้เป็นพอ”  ด้วยเหตุนี้ลูกศิษย์ที่รักทุกคนจงทำตัวให้เป็นที่พึ่งพิงด้านการปศุสัตว์ไทยให้กับประชาชนอย่างเข้มแข็ง  อย่างอดทนอดกลั้น  ขยันขันแข็ง  สนใจใฝ่รู้พัฒนาตนเองอยู่ตลอดเวลา  อย่ามัวแต่ให้คำจำกัดความตัวเองอีกเลย  เพราะสักวันหนึ่งอาจมีวิชาชีพข้างเคียงของประเทศในกลุ่มอาเซียนเข้ามาเป็นคู่แข่งขัน  เมื่อถึงเวลานั้นชื่อนั้นสำคัญไฉน!!
                                                                                                         
                                                                                             น.สพ.พิเชษฐ  ประจงทัศน์

                                                                                                      11 ก.ค. 2555