วันพฤหัสบดีที่ 30 สิงหาคม พ.ศ. 2555


เหตุเกิดที่หมู่บ้านชัฏหนองหมี
                จำได้ว่าคำขวัญ  “เราเรียนรู้ด้วยงานการฝึกหัด (Doing to Learn)  เราปฏิบัติเพื่อหวังทางศึกษา (Earning to Live) หาเลี้ยงชีพเพื่อชีวิตพัฒนา (Living to Serve) ใช้วิชาเพื่อบริการงานสังคม (Learning to Do)  เป็นคำขวัญขององค์การวิชาชีพเพื่อเกษตรกรในอนาคตแห่งประเทศไทย  ในสมเด็จพระราชูปถัมภ์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาสยามบรมราชกุมารี  หรือที่พวกเราชาวเกษตรเขาเขียวรู้จักกันในชื่อย่อว่า “อกท.”  นั้น  เป็นหลักปฏิบัติ  เป็นวิถีของการทำงานในอาชีพของเกษตรเขาเขียวทุกคน  จะว่าผู้ที่เรียนผ่านฝึกปฏิบัติผ่านสถาบันการศึกษานี้  จะพบคุณลักษณะหนึ่งที่เป็นเสน่ห์ของเด็กเกษตรที่นี่คือ  หนักเอาเบาสู้  มีความอดทน  เรียนรู้งานเร็วในการปฏิบัติงานภาคสนาม และหน่วยงานที่มีความประทับใจในการปฏิบัติงานร่วมกับชาวเกษตรเขาเขียวตลอดมาคือ  หน่วยงานปศุสัตว์จังหวัดราชบุรี  ที่มีลักษณะการทำงานส่งเสริมซึ่งกันและกันกับวิทยาลัยฯ  เห็นได้ชัดเจนคือโครงการสัตวแพทย์พระราชทานในสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ  ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 23 – 25 สิงหาคม 2555 ที่อำสวนผึ้ง  จ.ราชบุรี  นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณที่พระองค์ทรงห่วงใยปศุสัตว์ของราษฎร  ทำให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้านการปศุสัตว์  ตั้งแต่ปศุสัตว์จังหวัดราชบุรีซึ่งเป็นเจ้าภาพหลักร่วมกับเจ้าหน้าที่จากสำนักพระราชวัง  หน่วยงานราชการๆของจังหวัดที่สนับสนุนการทำงานด้านต่างๆในพื้นที่   ตลอดจนมหาวิทยาลัยที่มีนิสิตนักศึกษาคณะสัตวแพทย์ เช่น มหาวิทยาลัยมหิดล  มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์  และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สำหรับเกษตรเขาเขียวเรานั้นเข้าไปมีส่วนสนับสนุนงาน  โดยพานักศึกษาในสาขาวิชาสัตวศาสตร์  และสาขาวิชาสัตวรักษ์ลงปฏิบัติงานร่วมกับรุ่นพี่เขาเขียวซึ่งส่วนมากเป็นเจ้าหน้าที่ของปศุสัตว์จังหวัดราชบุรี  และผมได้รับเชิญไปในฐานะวิทยากรเสวนา  ร่วมกับเกษตรกรและนักวิชาการจากกรมปศุสัตว์  ในหัวข้อการควบคุมพยาธิภายใน-ภายนอกโดยใช้เทคโนโลยีชาวบ้าน ณ หมู่บ้านชัฏหนองหมี  ต.ชัฏป่าหวาย อ.สวนผึ้ง จ.ราชบุรี
                วันแรกของการเข้าร่วมกิจกรรมมีท่านอธิบดีกรมปศุสัตว์ น.สพ.ทฤษดี  ชาวสวนเจริญ เป็นประธานเปิดกรวยในพิธี  โดยมีรองผู้ว่าราชการจังหวัด นายณรงค์  ครองชนม์ เป็นผู้กล่าวรายงาน  เรื่องความสำคัญของการเลี้ยงปศุสัตว์ในจังหวัดราชบุรี  บรรยากาศของงานเป็นการเปิดงานที่เรียบง่ายดี  ท่านปศุสัตว์จังหวัด วิมลรัตน์  สุภาคม   และทีมงานของท่านบริหารจัดการได้กระชับ  ประหยัด  นำงบประมาณลงสู่เนื้องานด้านการส่งเสริมสุขภาพสัตว์ให้เกิดประโยชน์กับชาวบ้านมากที่สุด  การลงพื้นที่ในครั้งนี้ทำให้รู้ได้เลยว่าผลผลิตในการสร้างบุคลากรระดับเทคโนโลยีด้านการปศุสัตว์  ของวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีราชบุรีไม่สูญเปล่า !! สามารถเป็นที่พึ่งพิงให้กับการพัฒนาปศุสัตว์ไทยได้เป็นอย่างดี   สังเกตศิษย์เก่าทั้งในสาขาวิชาสัตวศาสตร์ซึ่งครูเปรียบเหมือนลูกคนโต  และสาขาวิชาสัตวรักษ์เทียบได้เหมือนลูกคนเล็ก  ทั้ง 2 สาขาเป็นตัวจักรสำคัญในการปฏิบัติการภาคสนามได้อย่างแข็งขัน  จนพี่อาวุโสที่อยู่ในโครงการสัตวแพทย์พระราชทานอดชมไม่ได้ว่า  ศิษย์เกษตรเขาเขียวปฏิบัติการภาคสนามได้คล่อง  สะท้อนถึงการได้รับการฝึกปฏิบัติมาอย่างดีทั้งบู๊และบุ๋น 
                ในการได้รับภารกิจร่วมเสวนากับเกษตรกรครั้งนี้  มีเรื่องที่น่าสนใจอย่างมากในการนำแนวคิดจากเวทีแลกเปลี่ยนความคิดเห็นมาพัฒนากระบวนการเรียน  การวิจัย  และการบริการวิชาชีพของอาชีวเกษตรให้ไปในทิศทางเดียวกัน  สามารถช่วยแก้ไขปัญหาชุมชนได้อย่างไร  จะมีส่วนร่วมกับสำนักงานปศุสัตว์จังหวัดราชบุรีในการพัฒนาการส่งเสริมสุขภาพสัตว์  โดยเฉพาะการเลี้ยงแพะให้เป็นหมู่บ้านเลี้ยงแพะแบบพึ่งพาตนเองได้อย่างไร  ทำอย่างไรจึงจะลดโครงการประชานิยมบางอย่างที่ดูถูกภูมิปัญญาของชุมชน  ภาครัฐควรเลิกทำตัวเป็นซานตาครอสเสียที  หากชาวบ้านพึ่งพาตนเองได้มากขึ้นเท่าไร สิ่งต่างๆที่เป็นปัญหาที่หมักหมมในสังคมไทยจะค่อยคลี่คลายไปในทางสร้างสรรค์มากขึ้น  มัวฝอยมาตั้งนานคงอยากจะทราบแล้วว่ามันเกิดอะไรขึ้นที่หมูบ้านชัฏหนองหมี ? ?   บรรยากาศที่จัดเสวนาในวันนั้น  สภาพอากาศเป็นใจฝนไม่ตก  ลมพัดเย็นสบายภายใต้ร่มโพธิ์ต้นใหญ่ที่แผ่กิ่งก้านสาขาปกคลุมร่มเงาให้กับผู้เข้าร่วมเสวนาได้อย่างเป็นธรรมชาติ  เราจัดกันแบบเวทีชาวบ้าน  หัวข้อการเสวนาก็อย่างที่อ้างไว้เรื่องพยาธิภายในและพยาธิภายนอก  จำได้ว่าผมมาบรรจุงานเมื่อปี 2530 เวลาออกหน่วยระยะสั้นเคลื่อนที่ของเกษตรเขาเขียว  ปัญหาเรื่องพยาธิในสัตว์เลี้ยง  จัดเป็นหัวข้อที่ต้องอธิบายอยู่เป็นประจำ  เวลาคล้อยหลังผ่านมา 25 ปี   ปัญหานี้ยังคงอยู่และกลับหนักขึ้นกว่าเดิม  ในวงเสวนาวันนั้นทำให้ทราบว่าพยาธิตัวกลมในระบบทางเดินอาหารของแพะ  เป็นปัญหามาก  จากตัวอย่างที่ชาวบ้านนำมาให้ตรวจพบไข่พยาธิตัวกลมจำนวนมาก  และเจ้าของตัวอย่างที่นำขี้แพะมาให้ตรวจ  บอกให้ทางเราทราบว่าเลี้ยงแพะจำนวน 80 ตัว  ตายไปแล้ว 20 ตัว  ขณะนี้( 25 ส.ค.2555 ) แพะเมื่อชั่งน้ำหนักที่มีชีวิตราคากิโลกรัมละ 110 บาท  แพะตัวหนึ่งน้ำหนักเฉลี่ย 30 – 35 ก.ก. ลองคิดดูว่าเกษตรกรรายนี้ต้องสูญเสียรายได้จากแพะที่ตายจากโรคพยาธิเป็นเงินเท่าไร 
                เนื้อหาของการแลกเปลี่ยนปัญหาเรื่องการแก้ไขปัญหาพยาธิภายใน และพยาธิภายนอกระหว่างผมกับหมอมนัสชัย วัฒนกูล เป็นการสื่อสารเปรียบเทียบให้ชาวบ้านได้ทราบถึงวิธีคิด แก้ไข  ป้องกันทั้งในมุมมองจากภูมิปัญญาตะวันตก  และภูมิปัญญาตะวันออก  ซึ่งในมุมมองทั้ง 2 มีแง่คิดน่าสนใจที่ควรหยิบยกมาอธิบายเพื่อการจรรโลงความคิดและแก้ไขปัญหาโดยเอาชุมชนเป็นตัวตั้ง  ในรูปแบบของวิธิคิดแบบตะวันตกจะเน้นการไล่ล่าฆ่ามันให้หมดสิ้นไปจากร่างกาย  เน้นการรุกราน  ดูตัวอย่างประเทศสหรัฐอเมริกาบุกยึดอิรัก จับซัดดัมฆ่าแล้วเข้าไปบริหารจัดการแหล่งน้ำมันของประเทศอิรัก  ยาถ่ายพยาธิที่ผลิตจากฝั่งตะวันตกก็เช่นกัน  เน้นการทำลายตัวเต็มวัยพยาธิไม่ให้เหลือไว้สักตัวเดียว  ส่วนภูมิปัญญาตะวันออกนั้นไม่ต้องการทำลายพยาธิให้หมดสิ้นไปจากร่างกาย  แต่ให้เหลือไว้ในปริมาณที่เหมาะสมเพื่อสร้างภูมิไว้ป้องกัน  มิให้ตัวอ่อนระยะติดโรค ( infective larva )  ซึ่งเข้ามาใหม่เจริญเป็นตัวเต็มวัยได้  ปัญหาหนึ่งที่นักวิชาการและผู้ปฏิบัติการในพื้นที่พบ  ยาแพงๆอย่างไอโวเมคตินเริ่มเอาไม่อยู่  พยาธิเริ่มดื้อยาแล้วหรือ  จะทำอย่างไรดีล่ะ??  ถ้าหากคิดในมุมมองตะวันออก  พยาธิเปรียบเหมือนตัวทุกข์ในทางพระพุทธศาสนา  คงต้องยอมรับว่าปุถุชนคนทั่วไปไม่สามารถหลุดพ้นจากความทุกข์ได้  แต่จะต้องคอยตรวจสอบชำระชะล้างความทุกข์อย่างสม่ำเสมอ  หากขาดสติกำกับไว้อย่างรู้เท่าทันทุกข์จะเข้าแทรกทันที  โดยเฉพาะทุกข์จากอัตตาของคน  แพะก็เช่นกันได้รับตัวอ่อนระยะติดโรคพยาธิอยู่ทุกครั้งที่ลงแปลงหญ้า  หากร่างกายขาดภูมิคุ้มกันโดยเฉพาะกลไกของร่างกายที่เยียวยาตนเอง ( self cure ) ในระดับที่สามารถป้องกันตนเองจากตัวอ่อนพยาธิได้  อะไรล่ะ!! ที่แพะเหล่านี้ขาดภูมิคุ้มกันในการเยียวยาตนเอง  ผมคิดว่าการรับเทคโนโลยีมาอย่างครึ่งๆกลาง  และไม่สอดคล้องกับวิถีชุมชนและเงินในกระเป๋า!! ชาวบ้าน  คงเป็นไปได้ยากที่เกษตรส่วนใหญ่จะซื้อยาราคาแพงๆมาฉีดให้กับแพะของตนเองอย่างสม่ำเสมอ  และคงเป็นไปได้ยากอีกเช่นกันที่เจ้าหน้าที่ปศุสัตว์ซึ่งมีจำนวนไม่มาก  จะสามารถบริการอย่างทั่วถึงและสม่ำเสมอ  ดังนั้นจึงเกิดสุญญากาศทางภูมิคุ้มกัน ( immunity  vaccum ) คำนี้ผมคิดเอาเอง  คงไม่มีใครบัญญัติศัพท์ในวงวิชาการหรอก  ความหมายมันเป็นเช่นนั้นจริงๆ คือสัตว์ขาดภูมิคุ้มกันชั่วคราวตามธรรมชาติ  ปกติแล้วแพะจะมีการป้องกันตนเองจากเชื้อโรคหรือตัวอ่อนพยาธิ  หากแต่ว่าถ้ามีการทำให้ร่างกายเสียดุลยภาพจากสารเคมี  ร่างกายจะเสี่ยงต่อการติดเชื้อซ้ำ ดังกล่าว  ตัวอ่อนของพยาธิตัวกลมระยะติดโรคในระบบทางเดินอาหารของแพะเมื่อเข้าสู่ร่างกายแพะจะกลายเป็นตัวเต็มวัยภายใน 19 วัน ลองคิดดูก็แล้วกันว่า  ช่วงที่แพะได้รับยาถ่ายพยาธิซึ่งเป็นสารเคมีฉีดเข้าร่างกาย  ตัวเต็มวัยจะถูกฆ่าตายหมด  ดังนั้นในวันต่อมาแพะเหล่านี้มีโอกาสกินตัวอ่อนระยะติดโรคของพยาธิทุกๆวันเป็นเวลาอย่างน้อย 19 วัน  จะเกิดอะไรขึ้น  ถ้าตัวอ่อนเหล่านี้เข้าไปอยู่ในร่างกายแพะเป็นพันตัว  แพะเหล่านี้จะถูกพยาธิช่วยกันรุมดูดเลือดจนแพะซีดตายในที่สุด  กว่าเกษตรกรจะรู้ตัวว่าภัยเงียบที่ขยันดูดเลือดทั้งวันทั้งคืนเป็นสาเหตุของความอ่อนแอซึ่งจะมีโรคฉวยโอกาสต่างๆในแพะเข้ามาช่วยกันรุมเร้าก็สายเกินแก้ 
                แล้วมีวิธีใดบ้างสามารถช่วยให้เกษตรกรพึ่งพาตนเองในการควบคุมโรคพยาธิในแพะเหล่านี้ได้ด้วยตนเอง  โปรดติดตามตอนต่อไป
                                                                                                น.สพ.พิเชษฐ  ประจงทัศน์
                                                                                                      30 ส.ค. 2555