วันพุธที่ 4 มกราคม พ.ศ. 2555

การควบคุมเห็บโคเชิงบูรณาการตามแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียง

                       การควบคุมเห็บโคเชิงบูรณาการภายใต้แนวคิด   เศรษฐกิจพอเพียง

คำนำ

                ปัจจุบันคนไทยเริ่มมีความเข้าใจในหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมากขึ้นรู้จักนำแนวคิดไปปรับประยุกต์ใช้  ในกิจกรรมต่างๆทั้งด้านการดำเนินชีวิตและการประกอบอาชีพต่างๆ   การควบคุมเห็บโคเชิงบูรณาการภายใต้แนวคิดเศรษฐกิจพอเพียง  จัดเป็นนวัตกรรมใหม่ที่เกษตรกรสามารถนำไปปฏิบัติได้ด้วยตนเองอย่างง่าย  ไม่สลับซับซ้อนแต่อย่างใด  ไม่ต้องเสียค่าลิขสิทธิ์ให้ใคร  เป็นภูมิปัญญาไทยที่เกิดจากการสังเกต  ค้นคว้า  วิจัยต่อยอดจากข้อมูลทางวิชาการและภูมิปัญญาชาวบ้าน  ตลอดจนได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับเกษตรกรในพื้นที่  ทำให้เกิดแนวคิดเชิงบูรณาการในการจัดการเห็บโคไปตามสภาพปัญหา ณ ขณะนั้น  จะไม่ยึดติดกับวิธีการใดวิธีการหนึ่งโดยเฉพาะ  ทุกวิธีซึ่งให้ข้อเสนอแนะในหนังสือเล่มนี้สามารถลดปริมาณเห็บได้แน่นอน  และไม่ต้องพึ่งพาปัจจัยภายนอกมากจนเกินไป  เกษตรกรทุกคนสามารถทำได้ด้วยตนเอง  เป็นวิธีประหยัด  เกิดประโยชน์  มีประสิทธิภาพบนพื้นฐานภายใต้แนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงขององค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่พระราชทานให้แก่ปวงชนชาวไทยทุกคน  ซึ่งเป็นกุญแจสำคัญในการแก้ไขปัญหาทางอาชีพเกษตรกรรมได้อย่างยั่งยืน
      การควบคุมเห็บโคเชิงบูรณาการ  ภายใต้แนวคิดเศรษฐกิจพอเพียง  เป็นการจัดการอย่างหนึ่งที่ต้องรู้จักเลือกใช้วิธีการใดวิธีการหนึ่ง  หรือหลากหลายวิธีการผสมผสานกัน  ทั้งนี้ขึ้นกับความเหมาะสมตามสถานการณ์ในขณะนั้น  ไม่มีสูตรสำเร็จอย่างใดอย่างหนึ่ง  หากใช้การจัดการแปลงหญ้า  หรือเพียงแค่ใช้วิธีกลแล้วสามารถควบคุมเห็บได้  ก็ไม่จำเป็นต้องใช้น้ำหมักจากสมุนไพร  หรืนำหมักเศษผลไม้  น้ำหมักเหล่านี้เป็นผลิตภัณฑ์ทางธรรมชาติที่คิดค้นขึ้นมา  เพื่อทดแทนสารเคมีได้บ้างบางส่วนเท่านั้นแต่หาใช่คำตอบในการควบคุมเห็บโคไม่  โดยทั้งหมดทั้งมวลต้องใช้ทุกอย่าง  ทุกวิธีด้วยสติปัญญา  ด้วยเหตุผล  ยึดหลักประหยัดถูกต้องตามหลักวิชาการ  มองผลของการปฏิบัติเข้าทำนอง      “ คุ้มค่า ”  มากกว่า  “ คุ้มทุน 
สรุป   การควบคุมเห็บโคเชิงบูรณาการภายใต้แนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงมีประเด็นและวิธีการต่างๆดังนี้
1. การตระหนักถึงอันตรายที่เกิดจากเห็บโค
2. การเข้าใจถึงวงจรชีวิตและการแพร่พันธุ์ของเห็บโค
3. การใช้วิธีกลกำจัดเห็บโค เช่น ให้นกหรือไก่พื้นเมืองจิกกิน  การเก็บกำจัดเห็บจากตัวโค
4. การใช้สมุนไพรพื้นบ้านนำมาสกัดด้วยแอลกอฮอล์  เช่น  เมล็ดน้อยหน่า  ตะไคร้หอม เป็นต้น
5. การนำเศษผลไม้มาหมักเพื่อให้เกิดกรดอินทรีย์นำไปเช็ดผิวหนังโคที่มีเห็บ
6. การคำนึงถึงการปล่อยโคลงแทะเล็มหญ้าในแปลงที่มีตัวอ่อนเห็บระบาด  ควรหลีกเลี่ยงด้วยการตัดหญ้ามาให้โคกิน
7. ไม่ควรเลี้ยงโคมากเกินความสามารถในการจัดการ 
การใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสมกับประเทศของเรานั้นพระองค์พระราชทานแนวคิดที่น่าสนใจดังนี้     “..........การใช้เทคโนโลยีอันทันสมัยในงานต่างๆนั้น  ว่าโดยหลักการควรจะให้ผลมากในเรื่องประสิทธิภาพ  การประหยัด  และการทุ่นแรง  แต่อย่างไรก็ตาม  คงยังต้องคำนึงถึงสิ่งอื่นอันเป็นพื้นฐาน   และส่วนประกอบของการงานที่ทำด้วย  อย่างในประเทศของเรา  ประชาชนทำมาหาเลี้ยงตัวด้วยการกสิกรรม  และการลงแรงทำงานเป็นพื้น  การใช้เทคโนโลยีอย่างใหญ่โตเต็มรูปหรือเต็มขนาดในงาน  อาชีพหลักของประเทศย่อมมีปัญหา  เช่น  อาจทำให้ต้องลงทุนมากมายสิ้นเปลืองเกินกว่าเหตุ  หรืออาจก่อให้เกิดการว่างงานอย่างรุนแรงขึ้น เป็นต้น  ผลที่เกิดจะพลาดเป้าหมายไป  ห่างไกลและกลับกลายเป็นผลเสีย  ดังนั้นจึงต้องมีความระมัดระวังในการใช้เทคโนโลยีที่ปฏิบัติงาน  คือควรพยายามใช้ให้พอเหมาะพอดีแก่สภาวะของบ้านเมือง  และการทำกินของราษฎร  เพื่อให้เกิดประสิทธิผลด้วย  เกิดความประหยัดอย่างแท้จริงด้วย..........” 

                                                              บทความโดย น.สพ.พิเชษฐ  ประจงทัศน์

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น